ความเป็นมา

          ประเทศไทยได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้จบการศึกษามีความรู้ทางวิชาการดี และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยใช้ระบบคุณวุฒิทางการศึกษาเป็นสิ่งวัดระดับความสามารถของบุคคลในการทำงานตลอดมา เมื่อหน่วยงานรับผู้จบการศึกษาที่มีแต่ความรู้ทางวิชาการเข้ามาทำงาน ต้องฝึกอบรมเพิ่มเติมให้มีสมรรถนะที่สามารถทำงานให้กับองค์กรได้ ซึ่งต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

          แต่เมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนไป ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มสมรรถนะบุคลากรเดิม ส่วนบุคลากรใหม่ต้องมีความสามารถและสมรรถนะเพียงพอที่จะเริ่มงานได้ในทันทีเช่นกัน จะมีแต่ความรู้ทางวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ จึงได้ทำการพัฒนาระบบฐานสมรรถนะบุคคลขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการรับรอง “สมรรถนะ” ของกำลังคนตามมาตรฐานอาชีพ ให้ตอบสนองกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม นามว่า “ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ”

          “ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” เป็นกระบวนการรับรองเพื่อให้บุคคลได้รับการยอมรับในความรู้ ทักษะ ตลอดจนความสามารถ และได้รับ “คุณวุฒิวิชาชีพ” ที่สอดคล้องกับสมรรถนะ ประสบการณ์ และความรู้ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพของตนในอนาคตได้

 

ความสำคัญของการทดสอบสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ

1. สร้างโอกาสในการรับสมัครเข้ารับการทำงานกับสถานประกอบการ

2. รู้ระดับความสามารถในสาขา / อาชีพ ของตนเอง

3. สร้างความก้าวหน้าในการทำงาน เช่น ได้รับการปรับระดับงานหรือค่าตอบแทนที่สูงขึ้น

4. สร้างความโดดเด่นเหนือผู้อื่น

5. สอบผ่านแล้วได้ใบรับรองมาตรฐานอาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

6. ใช้ในการประกอบการยื่นขอวีซ่าเพื่อขอเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

7. ใช้เป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อธนาคารเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพหรือธุรกิจส่วนตัว

ตัวอย่าง ใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ และหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ